เรื่องของอายุไม่เคยรอใคร เพราะด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน สภาพสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ผู้หญิงอย่างเราๆ ตัดสินใจเลือกที่จะแต่งงานช้าลง รวมถึงยังไม่มองเห็นภาพอนาคตของการมีลูก แต่ในขณะที่เวลาผ่านไปเร็ว ร่างกายของเราเองก็แปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติด้วยเช่นกันค่ะ แต่ไม่ว่าตอนนี้คุณจะเป็นสาวโสด หรือคนมีคู่ ขั้นตอนการ “ฝากไข่” จึงเป้นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่อยากจะมีเบบี๋แต่ยังไม่พร้อม บอกเลยว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ซึ่งใบบทความนี้เรารวบรัดรายละเอียดและทุกขั้นตอนมาให้แล้ว จะเป็นยังไงกันบ้างไปดูกันเลยค่ะ
การฝากไข่ คืออะไร?
ฝากไข่ (Oocyte Cryopreservation หรือ Egg Freezing) เป็นวิธีที่ช่วยรักษาคุณภาพเซลล์ไข่ผู้หญิงด้วยการการแช่แข็งเซลล์ไข่ เพื่อให้สามารถเก็บไข่ของสาว ๆ เอาไว้ใช้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคตได้ค่ะ โดยแพทย์จะทำการดูดเอาไข่ออกมาจากรังไข่ และนำไปแช่แข็งไว้ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส และเมื่อถึงเวลาที่พร้อมจะมีลูกแล้ว ก็จะนำไข่มาผสมกับอสุจิ (เป็นการปฏิสนธิภายนอก) แล้วก็นำกลับไปฝังที่ผนังมดลูกขอเรานั่นเอง
ทำไมถึงต้องมีการฝากไข่?
เมื่อเรามีอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เซลล์ไข่ก็ยิ่งเสื่อมคุณภาพและมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ และยิ่งถ้าเราเข้าสู่อายุในช่วง 40 ปีไปแล้ว หรือที่เรียกกันว่าช่วงวัยทอง (Menopause) ถือเป็นวัยที่หมดประจำเดือนแล้วล่ะก็ รังไข่ของเราก็จะเริ่มหยุดการทำงาน ทำให้เกิดปัญหาการมีลูกยากหรือเด็กอาจจะเกิดมาไม่แข็งแรงได้นั่นเอง เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ ผู้หญิงหลายคนหันมาเริ่มเก็บไข่กันมากขึ้นเพราะถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ แต่มีแพลนว่าอยากจะมีลูกในอนาคต
ใครที่สามารถฝากไข่ได้บ้าง?
- ผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 30 – 35 ปีขึ้นไป
- คนที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งกระบวนการรักษามะเร็งเช่น เคมีบำบัด หรือการฉายแสง จะส่งผลกระทบต่อจำนวนและคุณภาพของเซลล์ไข่ ดังนั้น Egg Freezing ก็จะทำให้เราสามารถวางแผนการมีลูกได้หลังรักษามะเร็งสิ้นสุดลงแล้ว
- ครอบครัวมีประวัติประจำเดือนหมดเร็ว คือหมดเร็วกว่าอายุ 47-50 ปี ซึ่งถ้าหากมีประวัติในครอบครัวแบบนี้ เราเองก็มีโอกาสที่ประจำเดือนจะหมดเร็วด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งทำให้ระยะเวลาที่สามารถตั้งครรภ์จะสั้นกว่าคนอื่นๆ
- ต้องเข้ารับการผ่าตัดรังไข่ เช่น การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ ช็อกโกแลตซีสต์
- มีปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น มีโอกาสเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst)
- ใช้วิธีเด็กหลอดแก้ว (IVF) แล้วไม่ได้ผล ในกรณีใช้วิธีเด็กหลอดแก้วแล้ว ฝ่ายชายไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อ ไม่มีตัวอสุจิในน้ำเชื้อ หรือจำนวนอสุจิไม่เพียงพอ ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธี Egg Freezing แทนนั่นเองค่ะ
การเตรียมความพร้อมก่อนฝากไข่
ก่อนที่คุณผู้หญิงจะทำการ Egg Freezing ดังนั้นการเตรียมร่างกายให้พร้อมก็ถือเป็นเรื่องสำคัญมากเลยล่ะ เพื่อให้ร่างกายเราผลิตไข่ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด แต่ก่อนการเก็บไข่จะมีวิธีดูแลตัวเองยังไงบ้างเรามาดูกัน
- ไม่ควรเครียดหรือกังวล เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการทำจิตใจให้ผ่อนคลายเข้าไว้ เพราะความเครียดจะส่งผลต่อฮอร์โมนโดยตรง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนช่วยในการผลิตไข่ ความเครียดหรือกังวลจะไปรบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำให้ไข่ไม่ตกตามที่ต้องการ และยังทำให้ไข่ไม่มีคุณภาพ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนการเก็บไข่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ในระหว่าง 1-2 วันก่อนการเก็บไข่ เพราะการพักผ่อนจะช่วยให้ร่างกายสามารถผลิตไข่ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้นนั่นเอง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สาว ๆ ควรเลือกทานอาหารที่มีสารอาหารโดยตรงที่จะช่วยบำรุงให้ไข่มีความสมบูรณ์ และแข็งแรง พร้อมต่อการปฏิสนธิเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น อาหารที่เน้นโปรตีน เพราะทำให้ไข่มีความสมบูรณ์ รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุ้นรังไข่
ขั้นตอนการฝากไข่
1. พบแพทย์เพื่อทำการปรึกษา
เมื่อตัดสินแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดทุกขั้นตอน วัดระดับฮอร์โมน ซักประวัติ และวางแผนการรักษา รวมถึงอัลตร้าซาวด์ตรวจดูสภาพรังไข่และจำนวนไข่ตั้งต้น เพราะในผู้หญิงแต่ละคนก็จะมีจำนวนไข่ที่ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเข้ามาฝากไข่ จึงควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่าสภาพการทำงานของรังไข่ตั้งต้นของเราว่าเป็นอย่างไร
2. การกระตุ้นไข่
หลังจากนั้นแพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเราควรได้รับปริมาณยากระตุ้นในปริมาณเท่าไหร่ และระยะยาวแค่ไหน รวมถึงแนะนำวิธีการฉีดยากระตุ้นไข่ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเริ่มวันที่ 2 หรือ 3 ของการมีประจำเดือน เพื่อกระตุ้นให้มีการตกไข่ในปริมาณที่มากกว่าปกติ โดยจะกระตุ้นทุกวันเป็นเวลา 9-12 วัน จำนวนในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับกับการทำงานของรังไข่เราด้วย
3. ติดตามขนาดไข่
ในระหว่างที่ฉีดยากระตุ้นไข่ แพทย์จะนัดตรวจติดตามทุก 2-3 วัน เพื่อดูการตอบสนองของรังไข่ เช็กจำนวนไข่ ว่าเป็นไปตามเป้าหมายแล้วหรือยัง หลังจากกระตุ้นจนได้ไข่ที่โตได้เต็มที่ ไข่จะมีขนาดประมาณ 17-20 มิลลิเมตร
4. ฉีดกระตุ้นให้ไข่ตก
หลังจากตรวจความสมบูรณ์ของขนาดไข่ ตรวจดูตำแหน่ง และมีจำนวนไข่อยู่ที่ประมาณ 10-20 ใบแล้ว ก็จะทำการฉีดยากระตุ้นการตกไข่ (36 ชั่วโมงก่อนการเก็บไข่) เพื่อเตรียมตัวสู่กระบวนการการดูดเก็บไข่ในขั้นตอนต่อไป
5. การเก็บไข่
ซึ่งในการเก็บเซลล์ไข่ แพทย์จะให้ยาสลบ จากนั้นจะทำการดูดเก็บไข่โดยใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปทางช่องคลอดและดูดไข่ออกมาจากรังไข่ ซึ่งจะต้องทำในช่วงเวลาก่อนไข่ตกเท่านั้น
6. การแช่แข็งไข่ การฝากไข่
หลังจากเก็บไข่เสร็จเรียบร้อยแล้ว เซลล์ไข่ก็จะถูกนำไปแช่แข็ง ด้วยเทคนิคการแช่แข็งแบบผลึกแก้ว หรือ Vitrification และเก็บรักษาในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส จนกว่าจะตัดสินใจนำไข่มาใช้ในอนาคต
ขอเสียของการฝากไข่
เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยแบบนี้ แน่นอนว่าต้องมาพร้อมกับราคาที่สูง ซึ่งเรทราคาก็มีความแตกต่างกันไปแล้วแต่โรงพยาบาล นอกจากนั้นในช่วง Process ก็อาจทำให้ผู้หญิงเกิดความรู้สึกกังวลขึ้นได้เช่นเดียวกันค่ะ เนื่องจากต้องมีการฉีดยากระตุ้นไข่และเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด และการ Egg Freezing อาจส่งผลข้างเคียงในด้านของฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด น้ำหนักขึ้น ปวดศีรษะ หรือมีอารมณ์แปรปรวนจนควบคุมไม่อยู่ได้เช่นกันจ้า
หากใครที่ยังอยู่ในช่วงอายุที่สามารถเก็บไข่ได้อย่างสมบูรณ์ได้ มีแพลนในอนาคตและมีงบถึง การฝากไข่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับสาว ๆ ที่ยังไม่พร้อม หรือยังไม่มีแพลนที่จะมีเบบี๋ในช่วงนี้ เพราะจะไม่มีความกังวลงกับสุขภาพทางกายและจิตใจตัวคุณแม่เอง และไม่ต้องเครียดกับความสมบูรณ์ของเด็กที่จะเกิดมาได้เช่นกันค่ะ และที่สำคัญยังมีประโยชน์กับคนที่มีลูกยากด้วย
สามารถติดตาม บทความ ใหม่ๆ ได้ที่เว็บไซต์ beautyismind
- 8 มอยส์เจอร์ไรเซอร์ ถูกและดี ช่วยให้ดูผิวอ่อนเยาว์ ในราคาแบบสบายกระเป๋า - December 6, 2024
- แนะนำ 4 Dry Shampoo แก้ผมมันเร่งด่วน สำหรับสายเร่งรีบต้องมี - November 25, 2024
- แนะนำ ไอเท็ม 2-in-1 ‘Body & Hair Mist’ ใช้ได้ทั้งเส้นผมและผิวกาย - November 22, 2024